การสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
1. การไล่ติดตามพระยาจีนจันตุ พ.ศ.
2121
พระยาจีนจันตุเป็นขุนนางจีนรับราชการอยู่ในกรุงละแวก
รับอาสานักพระสัตถากษัตริย์กัมพูชา นำกำลังมาปล้นเมืองเพชรบุรีของไทยแต่ไม่สำเร็จ
พระยาจีนจันตุเกรงว่าจะถูกลงอาญา จึงหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้รับราชการในราชสำนักอยุธยา
แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลอบลงเรือสำเภาหนีออกจากพระนคร
ขณะนั้นพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับที่กรุงศรีอยุธยา
ทรงดำริว่าพระยาจีนจันตุเป็นไส้ศึกเข้ามาสืบข่าวความเป็นไปภายในกรุงศรีอยุธยา จึงทรงนำกำลังลงเรือออกติดตามทันที
จนไปทันกันที่ปากน้ำ เกิดการยิงต่อสู้กัน
พระนเรศวรทรงเร่งเรือพระที่นั่งเข้าไปขนาบเรือสำเภาของพระยาจีนจันตุ
และทรงพระแสงปืนนาสับไล่ยิงพวกจีนอย่างไม่กลัวอันตราย
แม้จะถูกข้าศึกยิงตอบโต้จนต้องรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกก็ไม่ทรงหลบ
พระเอกาทศรถทรงเกรงพระเชษฐาธิราชจะเกิดอันตราย
จึงทรงเร่งเรือพระที่นั่งขอลพระองค์เข้าบัง
ขณะเดียวกันนั้นเรือสำเภาของพระยาจีนตุได้ลมหนุน จึงสามารถกางใบหนีออกทะเลไปได้
ทำให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งใช้เรือยาวไม่สามารถติดตามต่อไปได้
2. การรบที่เมืองคัง พ.ศ. 2124
หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเสด็จสวรรคต
มังไชยสิงห์พระราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อ
ทรงพระนามพระเจ้านันทบุเรง และได้สถาปนามังกยอชวา พระโอรส
ขึ้นเป็นที่พระมหาอุปราชา
ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองใหญ่น้อยต่างๆ
ที่อยู่ในพระราชอาณาเขตมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความอ่อนน้อมตามโบราณประเพณี
เมื่อมีการผลัดแผ่นดินเจ้าเมืองประเทศราชต่างๆ
ต้องเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ทางกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระนเรศวรเสด็จแทนพระองค์
ส่วนเจ้าฟ้าไทยใหญ่แห่งเมืองคังคิดแข็งเมือง
ไม่ยอมไปเข้าเฝ้าตามรับสั่ง พระเจ้านันทบุเรงจึงให้ยกทับไปปราบ จัดทัพขึ้น 3 ทัพ
ประกอบด้วย ทัพเมืองหงสาวดีมีพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพ
ทัพเมืองตองอูให้พระสังกะทัตเป็นแม่ทัพ และทัพกรุงศรีอยุธยามีพระนเรศวรเป็นแม่ทัพ
ทั้ง 3 ทัพเดินทางไปเมืองคังพร้อมๆกัน
แต่ด้วยภูมิประเทศของเมืองคังเป็นภูเขาสูง มีทางขึ้นลงเพียงทางเดียว
ประกอบกับเป็นทางแคบชัน ไม่สามารถยกพลขึ้นไปพร้อมกันทั้งสามทัพได้ แม่ทัพทั้งสามจึงต้องผลัดกันเข้าตีเมืองคังทัพละวัน
ผลปรากฏว่าทัพพระนเรศวรสามารถตีเมืองคลังได้สำเร็จ ทั้งนี้ก่อนเข้าตีทรงให้ทหารออกลาดตระเวนในภูมิประเทศอย่างละเอียด
จนพบเส้นทางลับขึ้นเมืองคังอีกเส้นทางหนึ่งอยู่ด้านหลังเมือง จึงทรงวางแผนการรบ
โดยแบ่งทหารเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกซึ่งมีกำลังน้อยกว่าเข้าโจมตีทางด้านหน้า
ลวงให้ข้าศึกทุ่มกำลังรับศึกแต่เพียงด้านเดียว โดยไม่ทันระวังด้านอื่น และให้อีกส่วนหนึ่งที่มีกำลังมากซุ่มคอยอยู่บริเวณทางลับจนดึกแล้วลอบเข้าเมือง
ทำให้สามารถตียึดเมืองคังได้สำเร็จภายในเวลาไม่นาน
การสงครามครั้งนี้เป็นผลให้พม่าเริ่มไม่ไว้วางใจกรุงศรีอยุธยา
3. การประกาศอิสรภาพ พ.ศ. 2127
ใน พ.ศ. 2126
พระเจ้าอังวะตั้งแข็งเมืองกับยังได้ชักชวนให้เจ้าฟ้าไทยใหญ่ พระเจ้าแปร
พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง)
รวมทั้งกรุงศรีอยุธยา ให้เข้าร่วมด้วย แต่ไม่มีผู้ใดยอมเข้ากับพระเจ้าอังวะ
หลายเมืองกลับจับทูตที่มาติดต่อส่งไปถวายพระเจ้านันทบุเรงให้ทรงทราบ
พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระเจ้าแปร
พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าล้านช้าง และพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเกณฑ์ไพร่พลยกทัพไปช่วยหงสาวดีปราบเมืองอังวะ
เพื่อยืนยันความจงรักภักดีต่อหงสาวดี ในครั้งนั้นพระนเศวรเป็นแม่ทัพของอยุธยา
ทรงยกทัพไปอย่างช้าๆ เพื่อหาโอกาสที่จะเข้าตีเมืองหงสาวดี
ขณะที่พระเจ้านันทบุเรงไม่อยู่ และกวาดต้อนครัวเชลยชาวไทยกลับกรุงศรีอยุธยา
ขณะเดียวกันพระเจ้านันทบุเรงซึ่งทรงระแวงพระทัยว่าพระนเศวรจะเข้ากับเมืองอังวะ
เนื่องด้วยกรุงศรีอยุธยามิได้จับทูตเมืองอังวะไปถวาย
พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงวางแผนลอบปลงพระชนม์พระนเศวร โดยให้พระยาเกียรติและพระยาราม
ขุนนางมอญ ไปดักคอยพระนเรศวรที่เมืองแครง
แต่พระยาทั้งสองได้นำความลับไปเปิดเผยแก่พระมหาเถรคันฉ่อง
พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ที่อยู่ในเมืองนั้น ต่อมาความทราบถึงพระนเศวร
ทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กรุงศรีอยุธยาต้องประกาศตนเป็นอิสระจากหงสาวดี
จึงทรงเรียกนายทัพนายกองประชุมพร้อมกันที่พลับพลา นิมนต์พระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน
แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกประกาศพระโองการว่า “
ตั้งแต่วันนี้ กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี
มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนไป” จากนั้นเสด็จนำกำลังเคลื่อนที่ไปยังกรุงหงสาวดี
ซึ่งขณะนั้นพระมหาอุปราชาอยู่รักษาเมือง
4. เหตุการณ์ที่แม่น้ำสะโตง
เหตุการณ์สืบเนื่องจากเหตุการณ์ข้างต้น
ขณะที่ทัพกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปเกือบจะถึงกรุงหงสาวดีนั้น
ได้ทราบข่าวทัพพระเจ้านันทบุเรงเสร็จศึกเมืองอังวะแล้ว กำลังยกทัพกลับหงสาวดี พระนเรศวรจึงจำเป็นต้องถอนทัพกลับ
ไม่สามารถบุกตีเมืองหงสาวดีได้อย่างที่ตั้งพระทัยไว้
แต่ได้ทรงต้อนครัวไทยกลับมาได้เป็นจำนวนมาก ระหว่างเดินทางกลับนั้น
พระมหาอุปราชาได้ส่งกุสุกรรมาแม่กองระวังหน้าไล่ติดตามมาทันกันที่แม่น้ำสะโตง
ในขณะนั้นทัพพระนเรศวรข้ามแม่น้ำมาได้แล้ว โดยให้ครัวไทยล่วงหน้าไปก่อน
แล้วแบ่งกำลังส่วนหนึ่งคอยป้องกันระวังทางหลังอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำสะโตง
เมื่อทั้งสองทัพเผชิญหน้ากันต่างใช้ปืนยิงข้ามฝั่งต่อสู้กัน
แต่เนื่องจากแม่น้ำสะโตงกว้างใหญ่
กระสุนที่ยิงออกไปจึงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย
พระนเรศวรทรงพระแสงปืนยาว 9 คืบ (
ประมาณ 2 เมตร ) ยิงถูกสุรกรรมาตายบนคอช้าง
ทหารพม่าเห็นดังนั้นเกิดความครั่นคร้าม ล่าถอยกลับไป
พระแสงปืนกระบอกนี้ต่อมาขนานนามว่า พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง
จัดรวมอยู่ในชุดพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภคสำคัญของแผ่นดิน มาจนถึงทุกวันนี้
5. พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2127
เมื่อกรุงศรีอยุธยาประกาศไม่ขึ้นแก่พม่าอีกต่อไป
พระเจ้านันทบุเนงจึงคิดปราบปราม โปรดให้จัดทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา มีกำลังถึง
130,000 คน ( น้อยกว่าครั้งที่พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 2112
) จัดเป็น 2 ทัพ ให้พระยาพะสิมคุมกำลัง 30,000 คน
เคลื่อนพลเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กับให้พระเจ้าเชียงใหม่ คุมกำลัง 100,000
คน เคลื่อนลงมาจากเหนือ เพื่อเปิดศึก 2 ด้าน และให้ทั้ง 2
ทัพนัดหมายมาสมทบกันเพื่อเข้าตีประสานต่อไป
ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยา
เมื่อประกาศอิสรภาพแล้วได้เตรียมการรอรบศึกพม่ามาโดยตลอด
สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระนเรศวรเป็นแม่ทัพใหญ่
ได้ทรงจัดกองทหารออกลาดตะเวนหาข่าวการเดินทัพของพม่า
ครั้นเมื่อทราบแน่ชัดว่าพม่ายกทัพเข้ามา 2 ด้าน โปรดให้เกณฑ์พลจากหัวเมืองเหนือ
10,000 คน จัดเป็นทัพบก มีพระยาสุโขทัยเป็นแม่ทัพ
ส่วนไพร่พลในกรุงศรีอยุธยาจัดเป็นทัพเรือขึ้น มีพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ
และพระยาพระคลังเป็นยกบัตร ให้ทั้ง 2 ทัพ
ขนย้ายและทำลายเสบียงอาหารตามเส้นทางที่ทัพพม่าจะยกเข้ามา
เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าสะสมเสบียงอาหารได้ กับให้กวาดต้อนราษฎรตรมหัวเมืองต่างๆ
เข้ามารวมไว้ในพระนคร
ในการศึกครั้งนี้
มีการรบสำคัญๆ 2 ครั้ง คือ การรบที่เขาพระยาแมน
และการรบแบบกองโจรที่ปากน้ำบางพุทรา
การรบที่เขาพระยาแมน
เนื่องด้วยการนัดหมายคลาดเคลื่อน
การเคลื่อนทัพลงมาไม่ตรงเวลากัน
กองทัพพระยาพะสิมเดินทางมาถึงเมืองกาญจนบุรีก่อนทัพพระเจ้าเชียงใหม่
พระนเรศวรจึงสั่งทัพเรือให้จัดกำลังไปต้านทานข้าศึก
ไม่ให้ยกพลเข้ามาถึงเมืองสุพรรณบุรี
ทัพเรือของกรุงศรีอยุธยาใช้ปืนใหญ่ไล่ยิงทัพพระยาพะสิมที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
จนฝ่ายพม่าต้องถอยกลับไปตั้งที่บริเวณเขาพระยาแมนซึ่งเป็นที่ดอน
รอฟังข่าวทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่ยกมาช่วย
พระนเรศวรพร้อมด้วยพระเอกาทศรถได้ยกทัพไปสมทบกับทัพบกของพระยาสุโขทัย
ก่อนจะเคลื่อนพลไปตั้งมั่นที่ตำบลป่าโมก แขวงเมืองพิเศษไชยชาญ
แล้วให้พระยาสุโขทัยนำกำลังออกไปไล่ตีกองหน้าของทัพพระยาพะสิม
แตกถอยร่นลึกเข้าไปจนถึงกลางดอน ซึ่งไม่มีเสบียงอาหารและไม่สมารถติดต่อหาข่าวทัพพระเจ้าเชียงใหม่ได้
พระยาพะสิมจึงตัดสินใจถอนกำลังกลับพม่า
พระยาสุดขทัยนำกำลังติดตามไปจนถึงเมืองกาญจนบุรี
การรบแบบกองโจรที่ปากน้ำพุทรา
หลังจากที่ทัพพระยาพะสิมถูกตีแตกพ่ายไปได้
15 วัน กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงเดินทางมาถึงบริเวณเมืองชัยนาท
โดยไม่ทราบว่าทัพพระยาพะสิมถอยกลับไปแล้ว
พระเจ้าเชียงใหม่สั่งให้ไชยะกยอสูกับนันทกยอทางยกพล 15,000 คน
ไปตั้งมั่นที่บริเวณปากน้ำบางพุทรา แขวงเมืองพรหม เพื่อคอยสืบข่าวทัพพระยาพะสิม
ทัพฝ่ายกรุงศรีอยะยาขณะนั้นตั้งอยู่ที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
พระนเรศวรโปรดให้พระราชมนูคุมกำลังออกตีทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่ปากน้ำบางพุทรา
แต่ทัพพระราชมนูมีกำลังน้อยกว่า จึงใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรให้ทหารคอยซุ่มอยู่ในป่า
แยกย้ายกันดักทำลายกำลังฝ่ายพม่าที่ออกมาลาดตระเวนและหาเสบียงอาหาร
โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่เผชิญหน้ากับทัพใหญ่ ฝ่ายพม่าได้รับความเสียหายเป็นอันมาก
ทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่จำต้องถอยร่นกลับไปชัยนาท และเลิกทัพกลับไปในที่สุด
เมื่อได้ข่าวว่าทัพพระยาพะ
สิมถอนตัวกลับไปแล้ว
6. สงครามคราวพม่าล้อมกรุง พ.ศ. 2128-2130
หลังจากส่งทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาใน
พ.ศ. 2127 แต่ไม่สำเร็จ
พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงพระราชดำริที่จะตีเอากรุงศรีอยุธยาให้จงได้
โปรดให้พระมหาอุปราชาคุมกำลัง 50,000 คน เข้ามาตั้งค่ายที่เมืองกำแพงเพชร
ตั้งแต่เดือน 5 พ.ศ. 2128 เพื่อเตรียมการสะสมอาหารสำหรับทัพใหญ่ กับให้พระเจ้าเชียงใหม่จัดทัพลงมาคอยก่อกวนไม่ให้ราษฎรไทยทำไร่ทำนาได้สะดวก
กันไม่ให้กรุงศรีอยุธยาสะสมเสบียงอาหารได้ และในปลายปี พ.ศ. 2128 นั้นเอง
พระเจ้านันทบุเรงได้กรีธาทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา
การสงครามครั้งนี้กินเวลายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2128 จนไปสิ้นสุดในต้นปี พ.ศ. 2130
แบ่งเป็นสงคราย่อยๆได้ดังนี้
เหตุการณ์ที่สะพานเผาข้าว
พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพลงมาตั้งค่ายที่บ้านสระเกศ
แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
จัดกองทหารแยกย้ายกันไปก่อกวนราษฎรไทยตามแขวงเมืองชายกรุศรีอยุธยา ครั้งหนึ่งได้สั่งให้เจ้าเมืองพะเยาคุมทัพม้าเข้ามากวนราษฎรไทยที่สะพานเผาข้าว
ในเขตกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวรและพระเอกาทศรถจึงทรงนำกำลังทหารออกไปขับไล่
การรบดำเนินไปอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตะลุมบอน
ในที่สุดทัพพระนเรศวรก็สามารถขับล่ทัพพม่าออกไปได้ เจ้าเมืองพระยาเสียชีวิตในที่รบ
การปะทะที่ตำบลป่าโมก
พระนเรศวรได้ทูลปรึกษาสมเด็จพระมหาธรรมราชาถึงการทหารรับข้าศึกพม่า
และได้ทูลขอความเห็นชอบจัดทัพไปตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก่อน
เพื่อลดทอนกำลังทหารของพม่า
สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระนเรศวรเป็นแม่ทัพคุมกำลังพล 80,000 คน รวมพลที่ทุ่งลุมพลี
ในเวลาเดียวกัน
พระเจ้าเชียงใหม่ได้ให้สะเรนันทสูยกกำลัง 5,000 คน ลงมารบกวนราษฎรไทยที่บ้านป่าโมก
พระนเรศวรและพระเอกาทศรถจึงเสด็จลงเรือเร็ว นำกำลังออกไปต้านทาน
ทหารกรุงศรีอยุธยารุกไล่ข้าศึกจนไปปะทะกับกองทัพพระยาเชียงแสน
ซึ่งเป็นทัพหน้าของกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ แต่ฝ่ายพม่ากำลังมากกว่า ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงต้องถอยร่นลงมา
พระนเรศวรโปรดให้เรือพระที่นั่งและเรือที่อยู่ในกระบวนทัพขึ้นไปลอยลำอยู่ที่บริเวณปากคลองป่าโมกน้อย
แล้วให้ระดมยิงข้าศึกด้วยปืนใหญ่บนเรือ จนทัพพระยาเชียงแสนต้องถอยกลับไป
การซุ่มโจมตีที่ป่าจิกป่ากระทุ่ม
เหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากการปะทะที่บ้านป่าโมก
เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ทราบว่าทัพหน้าถูกตีถอยกลับไป
คิดว่าพระนเรศวรคงต้องยกทัพไล่ติดตาม
จึงให้สะเรนันทสูและพระยาเชียงแสนทำการแก้ตัวยกกำลัง 15,000 คน
เคลื่อนลงมาอีกครั้ง พระนเรศวรจึงให้พระราชมนู แม่กองระวังหน้า นำกำลัง 10,000 คน
ออกลาดตระเวนทางทิศเหนือ นำหน้าทัพใหญ่ของพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ
ทัพหน้าของไทยได้ปะทะกับกองระวังหน้าของพม่าที่ตำบลบางแก้ว
พระนเรศวรจึงให้กำลังทหารในทัพของพระองค์คอยซุ่มโจมตีอยู่ที่ป่าจิกป่ากระทุ่ม
และให้ม้าเร็วไปแจ้งข่าวให้พระราชมนูรีบถอยทัพลงมา
แต่พระราชมนูเห็นว่ายังสมารถต้านทานทัพพม่าได้
ประกอบกับไม่ทราบข่าวการดักซุ่มโจมตีของพระนเรศวรจึงไม่ยอมถอยทัพ
พระนเรศวรได้ส่งจมื่นทิพรักษาขึ้นไปเร่งรัดให้พระราชมนูถอยทัพกลับอีก
แต่พระราชมนูไม่ยอม ด้วยเห็นว่าถ้าถอยกลับตอนนี้จะทำให้กองทัพแตกได้ง่าย
พระนเรศวรจึงสั่งให้จมื่นทิพรักษาขึ้นไปสั่งให้พระราชมนูถอยกลับลงมา
มิฉะนั้นจะประหารชีวิตทันที
ความเด็ดเดี่ยวของพระนเรศวรครั้งนี้ทำให้พระราชมนูตกใจรีบถอยทัพกลับตามรับสั่งทันที
ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่
เมื่อเห็นกองทัพพระราชมนูล่าถอย ก็เร่งไล่ติดตามมาจนถึงบริเวณที่พระนเรศวรทรงซุ่มกำลังรออยู่
พระนเรศวรโปรดให้กองทหารที่ซุ่มอยู่จู่โจมเข้าตีกระหนาบข้าศึก จนไม่ทันตั้งตัว
ทำให้ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ได้รับความเสียหายยับเยิน แม่ทัพพม่าเสียชีวิตในที่รบถึง
8 คน
เหตุการณ์รบที่บ้านสระเกศ
สถานการณ์ต่อเนื่องกับการซุ่มโจมตีที่ป่าจิกป่ากระทุ่ม
เมื่อเห็นว่าทัพเชียงใหม่ได้รับความเสียหายเป็นอันมากแล้ว
เป็นโอกาสดีที่จะตีซ้ำทัพพระเจ้าเชียงใหม่ในทันที
พระนเรศวรจึงทรงนำกำลังไล่ติดตามทัพพระเจ้าเชียงใหม่ โดยแวะพักที่บริเวณบ้านชะไว
แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เพื่อเตรียมการตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศในเช้าตรูของวันรุ่งขึ้น
แต่เผอิญทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ทราบข่าวเสียก่อน จึงย้ายค่ายหนีไป
เมื่อทัพพระนเรศวรยกไปถึงจึงสามารถยึดค่ายได้อย่างง่ายดาย
พระเจ้านันทบุเรงยกทัพหลวงมาสมทบ
ครั้นหมดฤดูฝน
ประมาณกลางเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน พ.ศ. 2129
พระเจ้านันทบุเรงได้นำกำลังยกมาสมทบกับทัพของพระมหาอุปราชา
ซึ่งเข้ามาตั้งกองทำนาเก็บเสบียงตั้งแต่ปีที่แล้ว พม่ามีกำลังถึง 250,000 คน
แบ่งเป็น 3 ทัพ ประกอบด้วย ทัพพระเจ้านันทบุเรงเป็นทัพหลวง ทัพพระมหาอุปราชา
และทัพพระเจ้าตองอู ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งพ่ายแพ้กรุงศรีอยุธยาหลายต่อหลายครั้งแล้ว
ถูกลดหน้าที่ลงเป็นเพียงหน่วยขนส่งลำเลียงเสบียงอาหารเท่านั้น
พระเจ้านันทบุเรงเคลื่อนทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือน 2 (ประมาณเดือนธันวาคม –
มกราคม ) พ.ศ. 2129 และตั้งล้อมกรุงทางทิศเหนือและทิศตะวันออกด้วยเห็นว่าเป็นด้านที่อ่อนแอที่เข้าตีได้สะดวกกว่าด้านอื่น
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระนเรศวรเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการรบ
เนื่องจากมีระยะเวลาในการเตรียมรับศึกครั้งนี้เป็นเวลานาน
จึงได้เตรียมการในด้านต่างๆดังนี้
1. เร่งทำนาในเขตพระนครและชานเมืองสะสมเสบียง
จัดกองทหารอาสาคอยคุ้มกันมิให้ข้าศึกมารบกวน
และนำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มาไว้ในพระนคร ส่วนที่เก็บเกี่ยวไม่ทันก็ให้ทำลายเสีย
มิให้ข้าศึกมีโอกาสมาเก็บเกี่ยวภายหลัง
2. กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองชั้นในต่างๆ เข้ามาใว้ในพระนคร
รวบรวมชาวบ้านที่ชำนาญพื้นที่ป่า
จัดเป็นกองทหารอาสาคอยดักซุ่มตีตัดเส้นทางลำเลียงของข้าศึก
3. จัดกำลังป้องกันแม่น้ำ โดยเฉพาะทางด้านใต้
ซึ่งใช้เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงทางทะเล และให้ทิ้งการป้องกันหัวเมืองเหนือทั้งหมด
ทุ่มกำลังทั้งหมดป้องกันพระนครแต่เพียงด้านเดียว
4. จัดกระบวนการทัพเป็น 4 แบบ แบ่งเป็น ทัพเรือ
จัดเรือเร็วและเรือบรรทุกเป็นปืนใหญ่ดักยิงข้าศึกไม่ให้รุกเข้าใกล้พระนคร ทัพบก
จัดเป็นหน่อยเคลื่อนที่เร็วสำหรับตีฉาบฉวย
จัดกำลังทหารประจำป้อมปราการรักษาพระนครเต็มอัตรา
กับจัดกองลาดตระเวนออกสอดแนมหาข่าวข้าศึกและติดต่อประสานงานกับหน่วยกองโจรที่อยู่ภายนอกพระนคร
การประทะที่บ้านชายเคือง
ในต้นเดือน 2
พ.ศ. 2129 เป็นระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งหันตรา ยังไม่ทันเสร็จ
พม่าได้เคลื่อนพลเข้ามาถึงพระนคร พระนเรศวรโปรดให้เจ้าพระยากำแพงเพชร
ที่สมุหพระกลาโหม นำกำลังออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว
ครั้นพระมหาอุปราชาเคลื่อนทัพมาถึง
สั่งให้กองทหารม้าเข้าตีทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายจนต้องถอยเข้าพระนคร
เป็นเหตุให้พระนเรศวรทรงพระพิโรธเนื่องจากกรุงศรีอยุธยายังไม่เคยพ่ายแพ้พม่าเลย
นับตั้งแต่ประกาศอิสรภาพเมื่อ พ.ศ. 2127 การพ่ายแพ้ครั้งนี้อาจทำให้ไพร่พลเสียขวัญได้
พระนเรศวรจึงได้เสด็จนำทัพเรือออกขับไล่ข้าศึกทางทุ่งชายเคืองทันที
เพื่อเรียกขวัญกำลังใจของทหารคืนมา การปะทะกันที่ทุ่งชายเคืองดำเนินไปอย่างรุ่นแรง
จนถึงพลบค่ำจึงสาสมารถขับไล่ทหารพม่าออกไปจากค่ายเจ้าพระยากำแพงเพชรที่ยึดไว้ได้สำเร็จ
เมื่อเสด็จกลับเข้าพระนครแล้ว
พระนเรศวรโปรดให้ประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร
แต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตไว้
ลดโทษลงเหลือเพียงถอดออดจากตำแหน่งสมุหพระกลาโหม
ความเด็ดขาดของพระนเศวรทำให้แม่ทัพนายกองต่างเกรงกลัว
และพยายามทำการรบจนสุดความสามารถ
พระนเรศวรออกปล้นค่ายพม่า
พม่าได้พยายามเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานกว่า
1 เดือน แต่ยังไม่สามารถตีได้
ระหว่างนั้นพระนเรศวรโปรดให้กองทหารอาสาที่จัดตั้งขึ้นออกปล้นค่ายพม่าทั้งกลางวันและกลางคืน
เพื่อทำลายกำลังข้าศึก ครั้งหนึ่งในเดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ เวลากลางคืน
ได้ทรงนำกำลังทหารส่วนหนึ่งตีปล้นค่ายทัพหน้าของพระเจ้านันทบุเรงจนแตกพ่าย
แล้วไล่ตีไปจนถึงค่ายหลวงที่ขนอนปากคู ทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายหลวงของพม่า
แต่ถูกข้าศึกแทงพลัดตกลงมาบาดเจ็บ จนต้องล่าถอยกลับเข้าพระนคร
พระนเรศวรประหารลักไวทำมู
จากเหตุการณ์พระนเรศวรออกปล้นปีนค่ายพม่าด้วยความองอาจกล้าหาญ
เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงต้องการจับพระนเรศวรให้จงได้
จึงสั่งให้ลักไวทำมูทหารเอกนำกำลัง 10,000 คน
ไปรักษาค่ายทัพหน้าที่ถูกพระนเรศวรตีแตก
จนกระทั่งพระนเรศวรนำกำลังมาซุ่มอยู่ที่ทุ่งลุมพลีเพื่อหาโอกาสตีค่ายพม่าอีกครั้ง
เมื่อลักไวทำมูทราบ จึงออกอุบายให้ทหารทศนำกำลังส่วนน้อยออกไปลวง
ฝ่ายพระนเรศวรทรงเห็นว่าข้าศึกมีน้อย จึงทรงม้าเข้ารบโยลำพัง
แล้วไล่ตีข้าศึกไปจนถึงบริเวณที่กำลังส่วนใหญ่ซุ่มรออยู่
พระนเรศวรจึงตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ลักไวทำมูควบม้าเข้ามาหมายจะจับองค์พระนเรศวร
แต่ถูกพระนเรศวรใช้พระแสงทวนแทงเสียชีวิต ถึงแม้จะเสียแม่ทัพไปแล้ว
แต่ด้วยกำลังที่เหนือกว่า ฝ่ายพม่าจึงไม่ถอนทัพกลับ การต่อสู้ดำเนินไปกว่าชั่วโมง
ทหารฝ่ายไทยจึงเข้ามาแก้พระนเรศวรออกจากวงล้อมข้าศึกได้
พม่าถอยทัพ
พม่าตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง
5 เดือน ตั้งแต่เดือนยี่ พ.ศ. 2129 จนถึงเดือน 6 พ.ศ. 2130
แต่ไม่สามารถเข้าพระนครได้ จนใกล้จะเข้าฤดูฝน
พม่าสุญเสียกำลังพลและสัตว์พาหนะไปเป็นจำนวนมาก
พระเจ้านันทบุเรงจึงปรึกษากับเหล่าแม่ทัพนายกอง เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะถอนทัพกลับ
พม่าจึงรับถอยทัพ โดยให้ทัพพระมหาอุปราชาถอยออกไปก่อน
ทันทีที่ทราบข่าวทัพพระมหาอุปราชาเริ่มถอนกำลัง
พระนเรศวนทรงนำทัพเรือออกไล่ตามจนไปปะทะกับกองกลังของทัพพระมหาอุปราชา
ครั้นทราบว่าทัพพระเจ้านันทบุเรงกำลังจะถอยทัพเช่นกัน พระนเรศวรจึงรีบเสด็จกลับนคร
แล้วเกณฑ์กำลังไปตั้งที่วัดเดช ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
กับให้นำปืนใหญ่ลงเรือสำเภาไประดมยิ่งค่ายหลวงของพม่าอย่างหนัก
จนพระเจ้านันทบุเรงต้องสั่งให้ถอยทัพไปที่ป่าโมก
พระเนรศวรให้ทัพบกติดตามไปจนถึงทะเลมหาราช
ส่วนพระองค์และพระเอกาทศรถทรงนำทัพเรือไล่ติดตามไปจนถึงป่าโมก
แต่กำลังฝ่ายกรุงศรีอยุธยามีน้อยกว่า ไม่อาจตีทัพพระเจ้านันทบเรงได้สำเร็จ
จึงนำทัพกลับ การที่ไทยสามารถขับไล่ทัพพม่าออกไปได้ครั้งนี้
ถือได้ว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชมีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์
7. สงครามกับพระมหาอุปราชาครั้งแรก พ.ศ. 2133
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง
4 เดือน ใน พ.ศ. 2133 พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นไปนาน
3 ปี พม่ายกทัพมาคราวนี้ตั้งใจจะปราบกรุวศรีอยุธยาให้จงได้
เพื่อให้หัวเมืองประเทศราชอื่นๆ ยำเกรงหงสาวดี ไม่กล้าตั้งแข็งเมืองตามอย่างกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้านันทบุเรงจึงให้เกณฑ์กำลัง จัดเป็น 2 ทัพ โดยให้พระเจ้าแปรคุมกำลัง 10,000
คน ยกไปตีเมืองคลัง และให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพนำกำลัง 200,000 คน
เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ทางด่านพระเจดีย์สามองค์
พม่ายกทัพมาคราวนี้
กรุงศรีอยุธยาไม่มีเวลาเตรียมตัว ทำให้ไม่สามารถรวบรวมกำลังคนจากหัวเมืองต่างๆ
เข้ามารักษาพระนครได้เหมือนครั้งก่อน
สมเด็จพระนเรศวรทรงคิดยุทธวิธีใหม่เพื่อต้านทานศึก
โดยทรงนำกำลังส่วนใหญ่ออกไปตั้งรบนอกพระนคร เมื่อเดินทัพถึงเมืองสุพรรณบุรีทราบว่า
พระมหาอุปราชาได้ยกทัพเลยเมืองกาญจนบุรีมาแล้ว
สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้กำลังส่วนใหญ่ซุ่มรอโจมตีอยู่ที่บริเวณลำน้ำแม่คอย
และให้กำลังส่วนน้อยออกไปล่อข้าศึก กองหน้าของข้าศึกเห็นกำลังฝ่ายอยุธยามีน้อยกว่าจึงไล่ตีติดตามด้วยความคึกคะนอง
จนถึงบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถซุ่มทัพรออยู่ ฝ่ายไทยเข้าจู่โจมข้าศึกซึ่งไม่ทันคาดคิด
จึงแตกพ่ายถอยหนีอย่างไม่เป็นขบวน
ทัพกรุงศรีอยุธยาไล่ตีติดตามไปจนถึงทัพหลวงของพระมหาอุปราชา
พม่าไม่ทันระวังตัวตกเป็นฝ่ายเสียที
ถูกโจมตีอย่างหนักสูญเสียแม่ทัพนายกองและไพร่พลเป็นจำนวนมาก
พระยาพุกามเสียชีวิตในสนามรบ พระยาพะสิมถูกจับตัวได้
ส่วนพระมหาอุปราชาได้รับบาดเจ็บ จึงต้องถอนทัพกลับ
8. สงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135
ในพ.ศ. 2135
พระเจ้านันทบุเรงโปรดให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
พม่ายกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเตรียมที่จะยกทัพไปตีกัมพูชาที่เข้ามารบกวนหัวเมืองชายทะเลของไทยหลายครั้งหลายหน
แต่ทันทีที่ทราบข่าวทัพพม่า ได้ทรงเปลี่ยนแผนยกทัพไปรอรับทับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย
โปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นทัพหน้านำกำลังไปหยั่งกำลังข้าศึก
ทัพพระยาศรีไสยณรงค์ไม่สามารถต้านทานทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ต้องล่าถอย
ทัพของสมเด็จพระนเรศวรที่ซุ่มรอโอกาสอยู่ได้ออกโจมตี โดยพม่าไม่ทันระวังตัว
ขณะกำลังชุลมุนอยู่นั้น
ช้างของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถเกิดตกมันวิ่งถลำเข้าไปอยู่ในวงล้อมพม่า
สมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาได้ทรงเข้าทำยุทธหัตถี พระมหาอุปราชาเสียทีถูกสมเด็จพระนเรศวรฟันด้วยพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
พม่าจึงถอยทัพกลับไป
9. การตีเมืองทวายและตะนาวศรี
หลังสงครามยุทธหัตถี
สมเด็จพระนเรศวรได้ส่งทัพไปตีเมืองทวายและตะนาวศรีคืนจากพม่า โปรดให้พระยาจีกรียกทัพกำลัง
50,000 คน ไปตีเมืองตะนาวศรี และพระยาพระคลังนำกำลังอีก 50,000 คนไปตีเมืองทวาย
เป็นการไถ่โทษที่ยกทัพตามเสด็จไม่ทันในคราวทรงกระทำยุทธหัตถี
ทันทีที่ทราบข่าวกรุงศรีอยุธยา
เจ้าเมืองตะนาวศรีได้ส่งข่าวให้กรุงหงสาวดีทราบ
พระเจ้านันทบุเรงจึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปรบในสงครามครั้งเสียพระมหาอุปราชา นำกำลังไปต้านทัพกรุงศรีอยุธยาเป็นการไถ่โทษเช่นกัน
แต่กองทัพของพระยาจักรีเดินทางไปถึงเมืองตะนาวศรีก่อน และตั้งล้อมเมืองอยู่เพียง
15 วัน ก็สามารถตีเมืองตะนาวศรีได้สำเร็จ
ส่วนทัพพระยาพระคลังต้องต่อสู้กับชาวทวายที่ออกมารับศึกที่บริเวณเชิงเขาบรรทัด
แล้วจึงยกทัพไปตั้งล้อมเมืองทวาย
พระยาพระคลังสามารถตีเมืองทวายได้หลังจากตั้งล้อมเมืองอยู่ 20 วัน
ขณะเดียวกันนั้น
ฝ่ายพระยาจักรีไม่ได้รับข่าวจากพระยาพระคลัง
เกิดความทวิตกว่าพระยาพระคลังอาจถูกทัพพม่าจากเมืองเมาะตะมะตีกระหนาบ
จึงสั่งให้เกณฑ์เรือที่ยึดได้จำนวนกว่า 150 ลำ ให้หลวงเทพวรชุนเป็นแม่ทัพคุมกำลัง
10,000 คน นำกองเรือไปช่วยตีเมืองทวายทางทะเล และให้พระยาศรีไสยณรงค์คุมกำลัง
10,000 คน เฝ้ารักษาเมืองตะนาวศรี ส่วนพระยาจักรีนำกำลัง 30,000 คน
เดินทัพทางบกไปยังเมืองทวายอีกทางหนึ่ง
ระหว่างที่กองเรือกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปถึงตำบลบ้านบ่อ ในเขตเมืองทวาย
เกิดปะทะกับกองเรืองเมืองเมาะตะมะของสมิงอุบากองและสมิงพระตะบะ
ซึ่งพระเจ้านันทบุเรงสั่งให้ยกทัพมาช่วยป้องกันเมืองทวาย
ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอยู่นาน แต่ไม่มีฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ ด้านพระยาพระคลัง
เมื่อไม่ได้ข่าวทัพพระยาจักรี จึงให้พระพิชัยสงครามกับพระรามคำแหงคุมพล 5,000 คน
นำกองเรืองจำวนวน 100 ลำ ยกไปช่วยพระยาจักรีตีเมืองตะนาวศรี
ถึงปากน้ำเมืองทวายได้ยินเสียงสู้รบกัน จึงให้ขุนโจมจัตุรงค์คุมกองเรือไปลาดตระเวน
ได้ข่าวกองเรือของกรุงศรีอยุธยากำลังปะทะกับกองเรือพม่า
พระพิชัยสงครามกับพระรามคำแหงจึงนำทัพลงไปช่วยตีกระหนาบ จนทัพเรือพม่าแตกกระจาย
สมามารถยึดเรือและอาวุธโธปกรณ์ได้จำนวนมาก
เมื่อพระยาจักรียกทัพบกมาถึงเมืองทวาย
ได้ข่าวทัพมอญยกมาถึงแม่น้ำเมาะตะมะแล้ว จึงจัดกำลังเป็น 2 ส่วนแยกกันโจมตีทัพมอญ
ฝ่ายพระยาจักรีไปซุ่มโจมตีทางฟากตะวันตก ส่วนพระยาพระคลังนำกำลังไปซุ่มทางฟากตะวันออก
ฝ่ายข้าศึกไม่ทันระวังตัวจึงถูกตีแตกกระจัดกระจายไป หลังจากยึดเมืองตะนาวศรี
แล้วเมืองทวายได้มั่นคงแล้ว
สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์ไปเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี
ส่วนเมืองทวายยังคงให้เจ้าเมืองเดิมปกครองต่อไป
10. สงครามกับกัมพูชา
กัมพูชามักฉวยโอกาสในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ
ยกทัพมารุกรานหัวเมืองในปกครองของไทยเสมอๆ
เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรทรงขัดเคืองพระทัยเป็นอันมาก
จึงมีพระราชประสงค์ที่จะตีกัมพูชาให้จงได้ ใน พ.ศ. 2136 ทรงยกทั้งทัพบกและทัพเรือไล่ตีหัวเมืองรายทางของกัมพูชาจนถึงเมืองระแวก
ซึ่งขณะนั้นเป็นราชธานีของกัมพูชา ก่ารเคลื่อนทัพครั้งนี้แบ่งเป็น 4 เส้นทาง
ด้วยกัน คือ
เส้นทางที่ 1 ทัพหลวงและทัพหน้า
สมเด็จพระนเรศวรนำทัพ ให้พระยาราชมนูเป็นแม่ทัพหน้า ใช้เส้นทางกรุงศรีอยุธยา –
นครนายก – ปราจีนบุรี – ปอยเปต – ศรีโสภณ – พระตะบอง –โพธสัตว์ – บริบูรณ์ –ละแวก
เส้นทางที่ 2 ทัพเจ้าพระยานครราชสีมา
เดินทัพจากโคราช – นครวัด – เสียมราฐ – กำพงสวาย – ละแวก
เส้นทางที่ 3 ทัพเรือพระราชบังสัน
ไปขึ้นฝั่งที่เมืองพุทไธมาศ (บันทายมาศ หรือ ฮาเตียน )
แล้วจึงเดินทัพทางบกต่อไปยังเมืองโจฎก (โชดก) – พนมเปญ – อุดงฦาไชย – ละแวก
เส้นทางที่ 4 ทัพเรือหัวเมืองปักษ์ใต้
มีพระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพ เดินทัพเลียบอ่าวไทยอ้อมแหลมญวน
ไปขึ้นฝั่งที่เมืองบาสัก หรือป่าสักในญวน
แล้วไปสมทบกับเรือของพระราชบังสันที่เมืองโจฎก
ระหว่างที่ทัพกรุงศรีอยุธยาตั้งล้อมเมืองละแวกนั้น
พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี(พระสัฏฐาที่ 1 ไทยเรียก นักพระสัตถา)
กษัตริย์กัมพูชานอกราชสมบัติ พร้อมด้วยพระอัครมเหสี และพระราชโอรสได้หลบหนีไป
ทิ้งให้พระอุปโยราชคือ พระศรีสุริโยพรรณ ตั้งทัพรับศึกกรุงรีอยุธยาอยู่ที่เมืองละแวก
แต่ไม่สามารถต้านทานทัพกรุงศรีอยุธยาได้ ต้องยอมพ่ายแพ้หลังจากถูกล้อมเมืองอยู่ 3
เดือน สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้นำพระศรีสุริโยพรรณกับพระโอรส 2 องค์คือ พระชัยเจษฎา
และ พระอุทัย พร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คนเป็นจำนวนมากกลับกรุงศรีอยะยา และได้ทรงอันเชิญประติมากรรม
พระแก้วพระโคมาด้วย
11. การตีหงสาวดีครั้งที่ 1 พ.ศ. 2138
ใน พ.ศ. 2138 หัวเมืองมอญ เช่น
เมืองเมาะตะมะและเมาะลำเลิง ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของพม่า
ต่างแข็งเมืองและมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อพระเจ้านันทบุเรงทราบข่าวจึงให้พระเจ้าตองอูยกทัพไปปราบปราม
แต่ถูกทัพกรุงศรีอยุธยาและมอญร่วมกันตีพม่าจนพ่ายแพ้กลับไป
สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะยกทัพไปตีพม่า
เนื่องจากสามารถใช้หัวเมืองมอญเหล่านี้เป็นฐานหน้า
เตรียมทำนาสะสมเสบียงสำหรับทัพที่จะยกตามมา เช่นเดียวกับที่พม่าใช้เมืองกำแพงเพชรทำนาปลูกข้าว
คราวพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2128 – 2130 การทัพครั้งนี้โปรดให้จัดทัพใหญ่
กำลังพลทั้งสิ้น 120,000 คน เคลื่อนทัพไปสมทบกับทัพมอญที่เมืองเมาะตะมะ
แล้วยกทัพต่อไปตั้งล้อมกรุงหงสาวดีอยู่นาน 3 เดือน
นับเป็นครั้งแรกที่กรุงศรีอยุธยายกทัพไปรบพม่าถึงกรุงหงสาวดี
และพม่าตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต้องคอยตั้งรับเพียงอย่างเดียว
ระหว่างที่ล้อมเมืองอยู่นั้น สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เข้าตีปล้นเมืองครั้งหนึ่ง
แต่ไม่สมารถตีได้สำเร็จ ภายหลังเมืองตองอู เมืองอังวะ และเมืองแปร
ส่งทัพมาช่วยกรุงหงสาวดี ทำให้ฝ่ายพม่ามีกำลังมากขึ้น
สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเสด็จยกทัพกลับ
12. การตีหงสาวดีครั้งที่ 2 พ.ศ. 2142
การยกทัพไปหงสาวดีครั้งที่ 2
นี้ห่างจากครั้งแรกถึง 4 ปี สมเด็จพระนเรศวรโปรดใหห้เจ้าพระยาจักรีคุมกำลัง
150,000 คน ไปตั้งทำนาสะสมเสบียงอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิง กับให้เกณฑ์ชาวเมืองทวาย
5,000 คน เป็นแรงงานต่อเรือที่เกาะพะรอก เพื่อเตรียมทำสงครามกับพม่าอีกครั้ง
ระหว่างนั้น
ด้านเมืองตองอูและเมืองยะไข่ได้ขอสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร
และให้สัญญาจะช่วยกรุงศรีอยุธยารบกรุงหงสาวดี พระเจ้ายะไข่ได้ส่งทัพเรือไปยึดเมืองสิเรียม
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำหงสาวดี แต่พระเจ้าตองอูคิดกลอุบายหลอกลวงไทย
ใน พ.ศ. 2142
สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพบกและทัพเรือเพื่อไปตีกรุงหงสาวดี
แต่ติดขัดที่ต้องปราบปรามพวกมอญที่เริ่มกระด้างกระเดื่องอยู่นานถึง 3 เดือน จึงสามารถยกทัพต่อไปยังกรุงหงสาวดีได้
ขณะนั้น พวกตองอูและยะไข่ได้ทำลายกรุงหงสาวดีลงแล้ว
ดังนั้นเมือทัพกรุงศรีอยุธยาเคลื่อนไปถึงจึงพบแต่หงสาวดีที่เป็นเมืองร้าง
13. การตีเมืองตองอู พ.ศ. 2142
การตีเมืองตองอูนี้ต่อเนืองจากการยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีครั้งที่
2 โดยที่เมื่อพบว่ากรุงหงสาวดีถูกเผาทำลาย ผู้คนถูกกวาดต้อน
กับทั้งพระเจ้านันทบุเรงถูกนำตัวไปที่ตองอูหมดสิ้นแล้ว
ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงขัดเครืองพระทัยเป็นที่ยิ่ง
และตัดสินพระทัยยกทัพขั้นไปตีเมืองตองอู
โดยให้ทัพพระยาจันทบุรีอยู่รักษากรุงหงสาวดี แม้ว่าทัพอยุธยาจะเคลื่อนที่ด้วยความยากลำบากเพราะภูมิประเทศทุรกันดาร
แต่ฝ่ายตองอูมิได้ส่งกำลังมาขัดขวางตามเส้นทาง
ด้วยคิดแต่จะป้องกันรักษาเมืองแต่อย่างเดียว
เมื่อทัพกรุงศรีอยุธยาถึงเมืองตองอูจึงเข้าล้อมเมืองไว้ แล้วขุดเหมือง
ไขน้ำในคูเมืองซึ่งลึกและกว้างมากออกให้ไหลลงแม่น้ำจนหมด
แล้วส่งกำลังข้ามไปตีหลายครั้ง แต่ชาวเมืองตองอูต้านทานอย่างเหนียวแน่น
ไม่สามารถตีได้ นานวันเสบียงอาหารของฝ่ายไทยขาดแคลน
ซ้ำยังถูกเมืองยะไข่ซุ่มตีขัดขวางการลำเลียงเสบียงอาหาร ทหารอ่อนกำลังมาก
หลังจากล้อมเมืองอยู่นาน 2 เดือน
จนถึงปลายเดือน 6 (ประมาณเดือนพฤษภาคม) พ.ศ. 2143 สมเด็จพระนเรศวรเห็นว่าทหารอดยากล้มตายเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับฝนตกชุบ จึงมีรับสั่งให้เลิกทัพกลับ ทางฝ่ายตองอูเองก็อดยากอิดโรยเช่นกัน
ทั้งยังครั่นคร้ามในองค์สมเด็จพระนเรศวรจึงมิได้กำลังออกติดตาม
กองทัพของไทยจึงเคลื่อนที่ได้โดยสะดวก กลับมาทางตอกหม้อ เมื่อถึงตำบลคับแค
โปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพแยกมาทางเชียงใหม่เพื่อไประงับเหตุวิวาท
ตามที่พระเจ้าเชียงใหม่ทูลขอความช่วยเหลือ
ส่วนสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพกรุงศรีอยุธยาทางเมืองเมาะลำเลิง
14. การระงับข้อพิพาทเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2143
สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกทัพไปถึงชายอาณาเขตล้านนา
ตั้งทัพอยู่ที่เมืองเถิน
รับสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่และเจ้าเมืองน้อยใหญ่ในแคว้นล้านนามาเฝ้า
ถวายเครื่องราชบรรณาการต้นไม้ทองเงินทุกเมือง พระเจ้าเชียงใหม่ไม่ยอมมาเข้าเฝ้า
ด้วยถือตนเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง เพียงให้ขุนนางท้าวพระยาคุมเครื่องราชบรรณาการมาถวาย
สมเด็จพระเอกาทศรถจึงเคลื่อนยกทัพขึ้นไปลำพูน
แล้วส่งคนไปแจ้งให้พระเจ้าเชียงใหม่ลงมาเฝ้า
มิฉะนั้นจะเสด็จกลับไม่ระงับข้อพิพาทอีกต่อไป
พระเจ้าเชียงใหม่เกิดความเกรงกลัวจึงลงมาเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถที่เมืองลำพูน
จึงทรงไกล่เกลี่ยตักเตือนจนปรองดองกันเหมือนเดิม
พระเจ้าเชียงใหม่ได้ถวายเมงตุลองราชบุตรองค์ใหญ่ (ไทยเรียก พระทุลอง)
ให้มารับราชการในกรุงศรีอยุธยา (ในพงสาวดารพม่ากล่าวว่า
ได้ถวายราชธิดาด้วยองค์หนึ่งชื่อ โยธยามี้พะนา
เป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
หลังเหตุการณ์ต่างๆสงบเรียบร้อยลงแล้ว
สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้ตั้งการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่พระธาตุหริภุญชัย
ลำพูน ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ถือน้ำเป็นสัตย์ต่อกรุงศรีอยุธยา
แล้วให้เจ้าเมืองใหญ่น้อยกระทำสัตย์ต่อพระเจ้าเชียงใหม่
แล้วเสด็จยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 2143 นั่นเอง
15. การยกทัพไปตีเมืองอังวะ พ.ศ. 2147 สงครามครั้งสุดท้ายในรัชกาล
หลังจากพระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์
พม่าเกิดความวุ่นวายภายใน หัวเมืองต่างๆเริ่มตั้งตนเป็นอิสระ แข่งขันกันขยายอำนาจ
ขณะนั้นพระเจ้าอังวะนะยองราม ซึ่งเป็นนักรบที่มีฝีมือกล้าแข็งและมีอำนาจมาก
ได้ราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่ ทรงพระนามพระเจ้าสีหสะรรมราชา
และเริ่มขยายอำนาจไปยังหัวเมืองไทยใหญ่
ซึ่งอยู่ต่อแดนพม่าฟากตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน
เข้ารุกรานเมืองนายกับเมืองแสนหวีซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้เกณฑ์กำลัง
100,000 คน ยกไปตีเมืองอังวะ โดยเสด็จยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนยี่ แรม
6 ค่ำ ปีมะโรง (ตรงกับวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2147 ) โดยขบวนเรือ
ไปตั้งทัพชัยที่ตำบลพระหล่อ แล้วยกไปทางเมืองกำแพงเพชร ขึ้นประชุมพลที่เมืองเชียงใหม่
เกณฑ์ไพร่พลมอญและชาวล้านนา เข้าร่วมกับทัพใหญ่ รวมกำลังได้ 200,000 คน
แล้วแยกเป็น 2 กองทัพ เคลื่อนที่ผ่านหัวเมืองไทยใหญ่
เข้าไปในเขตแดนพม่าใกล้เมืองอังวะ สมเด็จพระนเรศวรยกทัพหลวงไปทางเมืองหาง
ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพแยกไปทางเมืองฝาง ทัพสมเด็จพระนเรศวรเคลื่อนไปถึงเมืองหางเมื่อปลายเดือน
5 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2148 ตั้งค่าย ณ ทุ่งแก้ว (ทุ่งดอนแก้ว )
ทรงพระประชวรเป็นฝีละลอกขั้นที่พระพักตร์ เป็นพิษ เสด็จสวรรคตที่เมืองหาง
เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ (ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 )
การศึกครั้งนี้จึงเป็นอันยุติลงโดยปริยาย ด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้เลิกทัพ
อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับลงมายังกรุงศรีอยุธยา
ชื่อหนังสือ : สมเด็จพระนเรศวร
ผู้จัดทำ : กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
พิมพ์ครั้งที่ ๑ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม พ.ศ. ๒๕๔๖
ลิขสิทธ์ : กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการสูงสุด
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ
การคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนในหนังสือนี้ไปเผยแพร่ทุกรูปแบบ
ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากกรมยุทธศึกษาการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
ยกเว้นอ้างอิงหรือข้อความเป็นอัญพจน์เพื่อการศึกษา หรือการวิจารณ์
ผู้พิมพ์ : บริษัท
ประชุมช่าง จำกัด ๑/๑๔ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
โทร. ๐๒๙๔๐๙๔๐๐๕
โทรสาร ๐๒๙๔๐๙๔๐๙
ได้รับความรู้ เกี่ยวกับประวัติมากเลยค่ะ
ตอบลบดีมากค่ะ
บทความมีเนื้อหาดี มีประโยชน์ค่ะ
ตอบลบเนื้อหา ดี มากๆ
ตอบลบได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติเราด้วย
ตอบลบสุดยอดเลย!!
เนื้อหายอดเยี่ยมมาก
ตอบลบเนื้อหายอดเยี่ยมมากค่ะ
ตอบลบเยี่ยมค่ะ
ตอบลบน่าสนจัยน่
ตอบลบนำไปสอนได้เลยน่ะเนี่ย
ตอบลบ